นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) แถลงข่าว “วิสัยทัศน์การขับเคลื่อน SME ปี 2561” เพื่อแถลงทิศทางการดำเนินงานในการส่งเสริม SME ณ ห้องประชุม 1801 ชั้น 18 ที่ทำการ สสว. อาคารทีเอสทีทาวเวอร์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560
-------------------------------------------------------------
ผอ.เสือ นำ สสว. “พลิก SME ไทยสู่อนาคต” ด้วย 3 นโยบายหลัก
“ผอ.สสว. คนใหม่” เปิดวิสัยทัศน์ “พลิก SME ไทยสู่อนาคต” ดัน 3 นโยบาย สอดรับ GDP SME ขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 ไตรมาส ปล่อยงบฯ ปี 2561 จำนวน 1,220 ล้านบาท มุ่งเป้าส่งเสริม SME ไทยกว่า 3 แสนราย และยกระดับสินค้าอีก 1 แสนผลิตภัณฑ์ หวังเพิ่มมูลค่าแก่เศรษฐกิจไทย
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจไทย สะท้อนจากเครื่องชี้ตัวเลข SME พบว่า จำนวน SME ในระบบเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น 3,004,679 ราย คิดเป็น 99.7% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการจ้างงาน SME ขยับอยู่ที่ 11,747,093 ราย หรือคิดเป็น 78.5% ของการจ้างงานทั้งประเทศ
นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุดไตรมาส 3 ปี 2560 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของเอสเอ็มอี (GDP SME) ขยายตัว 5.3% นับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 ไตรมาส สอดคล้องกับ GDP ของประเทศขยายตัวได้ถึง 4.3% ทำให้สัดส่วน GDP SME ขยับมามาอยู่ที่ 42.6% ของ GDP ประเทศ หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.62 ล้านล้านบาท จึงประมาณการ GDP SME จะเติบโตได้ในปี 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.0%
สำหรับผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (TSSI) ล่าสุดในเดือนตุลาคม 2560 ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 94.8 จากเดือนก่อนอยู่ที่ 91.4 เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาว ทำให้มีการใช้จ่ายสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะภาคบริการ ส่วนดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (เดือนมกราคม 2561) ขยับอยู่ที่ระดับ 109.6 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการ SME มีความมั่นใจสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นในอนาคต
ด้านภาครัฐให้ความสำคัญและสนับสนุน SME ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในงบประมาณปี 2561 รัฐบาลได้จัดสรรวงเงินให้แก่ สสว. ทั้งสิ้น 1,220 ล้านบาท และอนุมัติให้ สสว. ดำเนินการแล้ว 24 โครงการ จาก 30 โครงการ ซึ่งโครงการที่เหลือ อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยตั้งเป้าหมายจะส่งเสริม SME ไทยทั้งสิ้น 272,882 ราย สร้างผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด 101,462 ผลิตภัณฑ์ พัฒนากิจการ 2,000 แห่ง และสร้างความร่วมมือภาครัฐและเอกชน 58 เครือข่าย จึงเชื่อว่าจะสามารถต่อยอดให้แก่ภาคเศรษฐกิจไทยได้เพิ่มขึ้น
ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า การขับเคลื่อน SME ไทย ในระยะต่อไปจะดำเนินการตามแนวคิด “พลิก SME ไทยสู่อนาคต (Reinventing SME Future)” ด้วยนโยบายหลัก 3 เรื่อง โดยเรื่องแรกการปรับเปลี่ยนรูปแบบ (Transformation) เรื่องสองการปรับเปลี่ยนแนวคิด SME สู่สากล (Internationalization) และเรื่องสุดท้ายการพัฒนาเครือข่าย เพื่อบูรณาการความร่วมมือรัฐและเอกชนให้ช่วยเหลือ SME ได้ดีที่สุดและพัฒนาให้ SME ปรับตัวได้ภายใต้การแข่งขันในยุคดิจิทัล
ทั้งนี้ นโยบายหลักทั้ง 3 ด้านดังกล่าว สอดคล้องกับแผนงบประมาณส่งเสริม SME ของ สสว. โดย ด้าน Transformation มีจำนวน 5 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Strong/Regular Level) 2. โครงการพัฒนาสู่สุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด ในการก้าวสู่ Thailand 4.0 (SME Provincial Champions) 3. งานประกวด SME National Awards & Start up Awards 4. โครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเอสเอ็มอี และ5. โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดสากล
ด้าน Internationalization มีจำนวน 4 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเอสเอ็มอี 2. โครงการพัฒนาช่องทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 3. งานดำเนินการตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ และ 4. งานดำเนินกิจกรรมภายใต้กรอบคณะทำงานอาเซียนด้านเอสเอ็มอี เช่นเดียวกับด้านพัฒนาเครือข่าย มีจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการสนับสนุนเครือข่ายเอสเอ็มอี 2. งานพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และ 3. งานสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำหรับโครงการที่เหลืออีก 18 โครงการ เป็นโครงการพื้นฐานในการส่งเสริมผู้ประกอบการ เพื่อยกระดับศักยภาพภายในและการติดตาม-ประเมินผลด้านผลผลิตของโครงการที่ดำเนินไปแล้วในช่วงปีที่ผ่านมา ดังนั้น ในปี 2561 จึงมี 4 แนวทางการส่งเสริมเอสเอ็มอี ประกอบด้วย 1. สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Start up) 2. ส่งเสริมเอสเอ็มอีกลุ่มทั่วไป (Regular) ให้มีศักยภาพและผลิตภาพมากขึ้น รวมถึงให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาทางธุรกิจ (Turn Around) 3. ส่งเสริมเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ (Strong) ให้มีความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้น และ 4. พัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและส่งเสริมเอสเอ็มอี (Ecosystem) ตามแนวทางพระราชดำริ
ขณะเดียวกัน นโยบายหลักทั้ง 3 ด้าน เป็นไปตามแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 4
(ปี 2560-2564) ซึ่งได้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย SME จำนวน 6 สาขาธุรกิจ คือ 1. กลุ่มธุรกิจด้านดิจิทัล 2. ธุรกิจเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม 3. ธุรกิจบริการที่มีมูลค่าสูง 4. ธุรกิจด้านเครื่องจักรกล วิศวกรรม อิเล็กทรอนิกส์เชิงกล และหุ่นยนต์ 5. กลุ่มธุรกิจด้านอาหาร การเกษตร และอุตสาหกรรมชีวภาพ 6. กลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพและที่เกี่ยวเนื่องกับการแพทย์
นายสุวรรณชัย กล่าวว่า สสว. ต้องการสนับสนุน ให้คำปรึกษา ควบคู่กับการเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ SME ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยจะจัดโครงการต่างๆ ทยอยออกมา อาทิ โครงการ “SME ONE” เป็นการพัฒนาเว็บไซต์ www.sme1.info วัตถุประสงค์เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล ข่าวสาร กิจกรรมและโครงการที่เป็นประโยชน์ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ SME ได้เข้ามาสืบค้น ลงทะเบียนรับบริการ และสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้
นอกจากนี้ ยังคงมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพ SME ไทย เช่น ในปี 2561 สสว.ร่วมกับบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง ประเทศไทย จำกัด หรือ “แล็บประชารัฐ” จะสนับสนุนคูปอง จำนวน 4,000 ใบ มูลค่ารวม 20 ล้านบาท เพื่อให้ SME ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขณะเดียวกันยังสนับสนุนการโปรโมทสินค้าและขนส่งสินค้า จำนวน 10,000 ราย มูลค่ารวม 10 ล้านบาท จัดอบรมให้ความรู้หรือทำ workshop เกี่ยวกับการค้าบนตลาดออนไลน์ จำนวน 15,000 ราย อีกทั้งเตรียมศึกษาโครงการส่งเสริม SME ในการใช้ใบอนุญาต (License) สู่ตลาดสากล เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน SME ไทย ในตลาดอาเซียนและตลาดโลก เป็นต้น
--------------------------------------------
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ :
เจริญไชย จารุกะกุล ส่วนสื่อสารองค์กร สสว.
โทร : 081-615-5450, 02-298-3201
อีเมล : charoenchai@sme.go.th
|
โครงการอื่นๆ |